ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: วัณโรคกระดูกสันหลังวัณโรคกระดูกสันหลัง (Pott Disease) คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคบริเวณกระดูกสันหลัง โดยการติดเชื้อมักเริ่มมาจากปอดก่อนจะกระจายมายังกระดูกสันหลังผ่านทางการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง มีไข้ เกิดฝีที่กระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อสะโพก หากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท อย่างภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
โดยทั่วไป วัณโรคกระดูกสันหลังจะเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกช่วงล่างและกระดูกสันหลังส่วนเอวช่วงบน แต่เชื้อสามารถกระจายไปยังกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการรักษาจะเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัด โดยวิธีและระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
อาการของวัณโรคกระดูกสันหลัง
วัณโรคกระดูกสันหลังมักแสดงอาการอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังเฉพาะที่ โดยเฉพาะบริเวณแนวกระดูกสันหลังหรือตามแนวประสาท มีไข้ เหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือเกิดฝีในกล้ามเนื้อโซแอส (Psoas Abscess) จนอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ หากเกิดการติดเชื้อวัณโรคกระดูกสันหลังในบริเวณต้นคอจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น แต่มักจะพบได้น้อย โดยจะมีอาการเจ็บหรือตึง มีภาวะคอบิด เสียงแหบ และมีความผิดปกติทางระบบประสาท
ในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้หลังค่อมเพราะกระดูกบริเวณสันหลังถูกทำลายหรือมีอาการบวมด้านข้างของกระดูกสันหลัง มีภาวะขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ประสาทการรับรู้อ่อนแอลง ปวดบริเวณรากประสาทไขสันหลัง หรือเกิดความผิดปกติในกลุ่มอาการกดทับที่เกิดกับส่วนปลายของไขสันหลัง (Cauda Equina Syndrome) เนื่องจากไขสันหลังถูกกดทับ
สาเหตุของวัณโรคกระดูกสันหลัง
วัณโรคกระดูกสันหลังเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเชื้อดังกล่าวมักกระจายตัวจากปอดผ่านทางเส้นเลือดไปสู่จุดอื่นได้ จึงอาจเกิดการติดเชื้อได้หลายจุดในกระดูกสันหลัง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคพบมักพบในกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีสุขภาพที่ไม่ดีหรือมีโภชนาการที่ไม่ดี เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นวัณโรค มีการติดต่อหรือสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อวัณโรค ผู้ที่ท่องเที่ยวหรืออพยพมาจากประเทศมีการระบาดของวัณโรค คนไร้บ้าน ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด เป็นต้น
การวินิจฉัยวัณโรคกระดูกสันหลัง
วัณโรคกระดูกสันหลังเป็นโรคที่ค่อนข้างยากต่อการวินิจฉัย ปกติแล้วแพทย์จะตรวจอาการผิดปกติ สอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ตรวจร่างกายทั่วไป และอาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
การใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยาต่าง ๆ โดยแพทย์จะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เช่น การเอกซเรย์ที่กระดูกสันหลังเพื่อหาตรวจหาความผิดปกติบริเวณดังกล่าว การตรวจ MRI หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการสแกนกระดูกในกรณีผู้ป่วยมีอาการบวมหรือมีฝีขึ้นบริเวณกระดูก
การทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การเจาะชิ้นเนื้อบริเวณกระดูกหรือไขข้อ การเก็บตัวอย่างเลือดมาเพาะเชื้อ (TB Culture) การตรวจหาเชื้อหรือความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันด้วยการวัดระดับแอนติบอดี้บางชนิดในร่างกาย (Serological Examination) เพื่อเพาะเชื้อและตรวจหาการติดเชื้อวัณโรค การหาอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง
การทดสอบหาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น โดยแพทย์จะทดสอบเชื้อวัณโรคบนผิวหนังหรือตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรค
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยแสดงอาการของโรค แพทย์อาจตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคที่อวัยวะอื่นเพิ่มเติม เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับวัณโรค เช่น การเอกซเรย์ปอด การเพาะเชื้อ การตรวจเฉพาะที่ เป็นต้น
การรักษาวัณโรคกระดูกสันหลัง
แพทย์จะรักษาผู้ป่วยแต่ละรายโดยพิจารณาจากความรุนแรงและความซับซ้อนของอาการ ดังนี้
การรักษาโดยการใช้ยา
ปริมาณการใช้ยาและสูตรยาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะจ่ายยาต้านวัณโรคตามความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัว และภาวะการดื้อยาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งตัวอย่างยาต้านวัณโรคที่นำมาใช้ เช่น ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) ยาอีแทมบูทอล (Ethambutol) หรือยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นต้น
การผ่าตัด
แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยา มีภาวะหลังค่อม ข้อกระดูกสันหลังผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งแพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น อายุ โรคประจำตัวหรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดับความรุนแรงของความผิดปกติและตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่เกิดความผิดปกติ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคกระดูกสันหลัง
วัณโรคกระดูกสันหลังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล เช่น
ภาวะความไม่มั่นคงของข้อกระดูกสันหลังหรือภาวะหลังค่อมจากการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง
ในกรณีที่มีการติดเชื้อกระจายไปยังเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียงอาจทำให้เกิดฝี (Cold Abscess) ซึ่งฝีอาจเข้าไปเบียดเนื้อเยื่อบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดโพรงกระดูกตีบแคบจนส่งผลต่อไขสันหลังและระบบประสาท
เชื้อวัณโรคอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หรือบางรายอาจรักษาแล้วไม่ได้ผล
การป้องกันวัณโรคกระดูกสันหลัง
พื้นฐานในการป้องกันโรค คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือการติดเชื้ออื่นเนื่องจากอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นวัณโรคหรือจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นอย่างยิ่งต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขอนามัยของตนเองและผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นอกจากนี้ วัณโรคยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) หรือวัคซีนบีซีจี โดยในประเทศไทยจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 16-35 ปี และมีความเสี่ยงต่อโรคอาจเข้ารับการฉีดวัคซีนบีซีจีได้เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลง