Doctor At Home: โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ โดยเยื่อหุ้มสมอง คือเนื้อเยื่อชั้นนอกที่ห่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง ส่วนมากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบประกอบไปด้วย ไข้ ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน และแพ้แสง หากสงสัยว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรับการรักษาในทันที
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คืออะไร?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังเกิดการติดเชื้อ โดยเยื่อหุ้มสมองมีหน้าที่รองรับและปกป้องสมองและไขสันหลังจากอาการบาดเจ็บ ในเยื่อหุ้มสมองจะประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท และน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF)
สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?
โรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรียซึ่งแพร่จากคนสู่คนได้
สาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ ได้แก่ มะเร็งหรืออาการบาดเจ็บศีรษะ
ทั้งนี้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบยังอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงและเจ็บปวด จึงแนะนำให้รีบพบแพทย์หากมีอาการ อย่าปล่อยจนอาการแย่ลง
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีกี่ประเภท?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละชนิดจะตั้งชื่อตามสาเหตุหรือระยะเวลาที่อาการปรากฏ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละชนิด ได้แก่
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส (Viral Meningitis) โรคเยื่อหุ้มสมองประเภทนี้มักจะไม่รุนแรงและหายได้เอง
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา (Fungal Meningitis)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากปรสิต (Parasitic Meningitis)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา หรือ อะมีบากินสมอง (Primary Amebic Meningoencephalitis หรือ PAM) เป็นโรคที่พบไม่บ่อย เกิดจากเชื้ออะมีบาที่กินสมองชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้เชื้อที่เกิดจากยา (Drug-induced Aseptic Meningitis หรือ DIAM) ยาบางประเภททำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทนี้ โดยมียาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) และยาปฏิชีวนะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
เยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง (Chronic Meningitis) เมื่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นนาน 1 เดือนหรือนานกว่านั้น จะเรียกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง
เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน (Acute Meningitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทนี้มาพร้อมอาการที่รุนแรงและเกิดขึ้นในฉับพลัน
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีทั้งโรคติดเชื้อและอาการที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โรคติดเชื้อส่วนมากเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต และอะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ส่วนสาเหตุของโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ โรคที่เกิดจากภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย ยาหรือมะเร็งบางชนิด และปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละประเภทจะมีสาเหตุแตกต่างกันไป โดยแบ่งออกได้ดังนี้
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย
เชื้ออีโคไล (E. coli)
เชื้อสเตร็พโตค็อคคัส กลุ่มบี (Group B Streptococcus)
เชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis)
เชื้อสเตร็พโตค็อคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae)
เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes)
เชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus Influenzae)
เชื้อไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส (Neisseria meningitides)
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
คางทูม
เชื้อไวรัสลิมโฟไซติก คอริโอเมนิงไจติส (Lymphocytic Choriomeningitis Virus)
ไวรัสกลุ่มเอนเตอโรที่ไม่ใช่โปลิโอ (Non-polio Enteroviruses)
ไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpesviruses)
หัดเยอรมัน (Measles)
อาร์โบไวรัส (Arboviruses) เช่น เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus)
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา
เชื้อราคอคซิเดีย (Coccidioides)
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากปรสิต
พยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus Cantonensis)
พยาธิแรคคูน (Baylisascaris Procyonis)
พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma Spinigerum)
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา
อะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri)
สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ ลูปัส (Systemic lupus erythematosus, Lupus)
ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ และ ยาปฏิชีวนะ
อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
การผ่าตัดสมอง
มะเร็งบางชนิด
ปฏิกิริยาเคมี
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการอย่างไร?
อาการแรกเริ่มของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะคล้ายกับไข้หวัด โดยจะมีอาการในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน และจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการในเด็กเล็กจะแตกต่างจากในเด็กและผู้ใหญ่
อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก ได้แก่
กระหม่อมนูนโป่งออกมา
เฉื่อยชาเพราะไม่มีแรง
ง่วงนอนหรือปลุกแล้วไม่ค่อยตื่น
ไม่ยอมกินอาหารหรือดูดนม
ร้องไห้ไม่หยุด
อาเจียน
อาการในเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้แก่
มีไข้สูงฉับพลัน
คอแข็ง
ปวดศีรษะรุนแรง
คลื่นไส้ อาเจียน
ชัก
สับสนมึนงง ไม่มีสมาธิ
ง่วงนอนหรือตื่นยาก
แพ้แสง
ไม่อยากอาหาร
ในบางประเภทจะมีผื่นขึ้น เช่น ในเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนมีอาการอย่างไร?
อาการแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
ความดันตก
มีปัญหาเรื่องการเดิน
การเรียนรู้บกพร่อง
สูญเสียการได้ยิน
มีปัญหาด้านความจำ
ชัก
ไตวาย
สมองบาดเจ็บ
เสียชีวิต
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่
อายุ: เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียพบได้บ่อยในคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และเกือบร้อยละ 70 เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แออัด: แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ที่มีคนเยอะ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ครบ: ผู้ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดที่ควรได้รับทั้งตอนเป็นเด็กและผู้ใหญ่ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากกว่า
การตั้งครรภ์: การตั้งครรภ์ช่วยเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง และยากดภูมิคุ้มกันทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลงได้ ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?
ในการวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ โดยในระหว่างการตรวจ แพทย์อาจตรวจหาการติดเชื้อที่หู ศีรษะ ลำคอ และผิวหนังตามแนวสันหลัง
วิธีตรวจที่แพทย์มักใช้เพื่อวินิจฉัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่
การตรวจเลือดและเพาะเชื้อจากเลือด การตรวจเลือดใช้ตรวจหาการติดเชื้อได้ ขณะที่การเพาะเชื้อจากเลือดนั้น จะเจาะเอาตัวอย่างเลือดไปเพาะในจานเพาะเชื้อเพื่อดูว่าแบคทีเรียจะเติบโตหรือไม่ และอาจศึกษาตัวอย่างเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาแบคทีเรียอีกด้วย
เทคนิครังสีวิทยาทางการแพทย์ แพทย์ใช้การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography หรือ CT) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เพื่อดูอาการบวมหรืออาการอักเสบในศีรษะ นอกจากนี้ การสแกนช่องอกหรือโพรงไซนัสอาจช่วยให้เห็นการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
การเจาะน้ำไขสันหลัง วิธีนี้เป็นการเจาะเข็มเข้าไปที่ช่องไขสันหลัง ซึ่งอยู่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วดูดเอาตัวอย่างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังไปตรวจหาว่าติดเชื้อหรือมีแบคทีเรียหรือไม่ โดยน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังคือของเหลวที่อยู่ในบริเวณสมองและไขสันหลัง
หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส อาจใช้เทคนิคการตรวจที่ชื่อ PCR (Polymerase Chain Reaction Amplification) ซึ่งเป็นวิธีทดสอบดีเอ็นเอ อีกทางเลือกหนึ่งคือการตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสบางชนิด ซึ่งช่วยให้แพทย์ระบุสาเหตุของโรคและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีการรักษาอย่างไร?
เยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละประเภทจะรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกัน การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบฟื้นตัวได้ดี แม้อาการจะหนัก
การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย
วิธีรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียคือให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันอาจจำเป็นต้องได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอย่างเร่งด่วน วิธีนี้จะช่วยเรื่องการพักฟื้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน
การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
ส่วนมาก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะดีขึ้นเองในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจปฏิบัติดังนี้เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้น
พักผ่อนเยอะ ๆ
ดื่มน้ำมาก ๆ
รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดตัวหรือลดไข้
อย่าลืมว่ายาปฏิชีวนะใช้รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสไม่ได้ ทั้งนี้ แพทย์อาจจ่ายยาคอติโคสเตียรอยด์ให้เพื่อลดอาการบวมในสมอง และจ่ายยาเพื่อควบคุมอาการชัก สำหรับผู้ที่เป็นเยื่อหุ้มสมองจากไวรัสเฮอร์ปีส์หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจได้ยาต้านไวรัสมารับประทาน
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทอื่น ๆ
สำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง วิธีรักษาจะพิจารณาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค ขณะที่ยาต้านไวรัสช่วยรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราได้ ในบางเคสอาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะอาการจะหายไปเอง สำหรับเยื่อหุ้มสมองที่สัมพันธ์กับมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษามะเร็งชนิดนั้น ๆ และสำหรับเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาคอติโคสเตียรอยด์หรือยากดภูมิอื่น ๆ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีป้องกันอย่างไร?
ปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ล้างมือให้สะอาด การล้างมือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกับใคร และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แปรงสีฟัน หรือลิปมัน
รักษาสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ทานผักผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด วิธีเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ปิดปาก เมื่อจามหรือไอ ควรปิดปากและจมูกเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรค
เลี่ยงรับประทานอาหารบางประเภทตามคำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ ปรุงอาหารหรือแช่แข็งอาหารในอุณหภูมิที่ปลอดภัย เลี่ยงรับประทานนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือชีสที่ทำจากนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
การฉีควัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว การฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียบางชนิดได้ ตัวอย่างวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย ได้แก่
วัคซีนป้องกันเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus Influenzae Type B หรือ Hib): องค์การอนามัยโรค (World Health Organization หรือ WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) แนะนำว่าเด็กควรรับวัคซีนประเภทนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน รวมถึงผู้ใหญ่ที่เป็นโรคโลหิตจางที่มีเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) เอดส์ หรือผู้ที่ไม่มีม้าม
วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugate Vaccine) หรือวัคซีน PCV13 และ PCV15: CDC กำหนดให้วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบปีควรได้รับ โดยเด็กอายุระหว่าง 2 – 5 ปี ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนิวโมคอคคัสสูง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคหัวปอดและหัวใจเรื้อรัง และเป็นมะเร็ง ควรได้รับวัคซีนเพิ่ม รวมถึงผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีควรได้รับวัคซีนเช่นกัน
วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine) หรือวัคซีน PPSV23: วัคซีนประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตที่ต้องการวัคซีนป้องกันแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดย CDC แนะนำว่าผู้ที่ควรได้รับวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ ผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป วัยรุ่นและเด็กอายุ 2 ขวบปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว รวมถึงผู้ที่ไม่มีม้าม
วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นชนิดคอนจูเกต (Meningococcal Conjugate Vaccine) หรือวัคซีน MenACWY: CDC แนะนำให้เด็กอายุ 11 – 12 ปี รับวัคซีนประเภทนี้ 1 เข็ม และรีบเข็มกระตุ้นเมื่อมีอายุ 16 ปี หากเข็มแรกได้รับในช่วง 13 -15 ปี ควรรับเข็มกระตุ้นช่วง 16 – 18 ปี หากได้รับเข็มแรกตอนอายุ 16 ปี หรือมากกว่า ไม่จำเป็นต้องรับเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ เด็กอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 10 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย หรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนั้น รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคเอดส์ อยู่ในที่แอดอัด เช่น หอพัก หรือสายทหาร
วัคซีน Serogroup B Meningococcal หรือวัคซีน MenB: CDC แนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นรับวัคซีนประเภทนี้ รวมถึงผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคโลหิตจางที่มีเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โดนตัดม้ามออกไป หรือผู้ที่ไม่มีม้าม