ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)  (อ่าน 18 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 128
  • เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 15:03:38 น. »
ตรวจสุขภาพ: กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอาหารอักเสบ (กระเพาะอักเสบ ก็เรียก) หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ในปัจจุบันได้แบ่งกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นชนิดเยื่อบุกร่อน (erosive gastritis) ชนิดเรื้อรัง (chronic/nonerosive gastritis) และชนิดจำเพาะ (specific types of  gastritis) โรคนี้พบได้ในคนทั่วไป พบมากในผู้ที่กินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาแก้ปวดข้อ) ดื่มสุราจัด และผู้สูงอายุ

สาเหตุ

1. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน เยื่อบุกระเพาะอาหารจะมีลักษณะแดงและกร่อน เป็นแผลตื้น ๆ หลายแห่ง อาจมีภาวะเลือดออก จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเลือดออก (hemorrhagic gastritis) มักมีสาเหตุจาก

    ยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
    แอลกอฮอล์
    ภาวะร่างกายเครียดเฉียบพลัน เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง บาดเจ็บรุนแรง การผ่าตัด ภาวะช็อก ภาวะไตวาย ภาวะตับวาย เป็นต้น
    พบร่วมกับโรคตับแข็งที่มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง (portal hypertension)

2. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ วินิจฉัยจากการตรวจชิ้นเนื้อ แบ่งออกเป็น

ก. ชนิดเอ จะมีความผิดปกติตรงส่วนต้น (fundus) ของกระเพาะอาหาร มีสาเหตุจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune) มักมีภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดวิตามินบี12 (pernicious anemia) ร่วมด้วย เพราะไม่สามารถดูดซึมวิตามินชนิดนี้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข. ชนิดบี จะมีความผิดปกติตรงส่วนปลาย (antrum) ของกระเพาะอาหาร แต่ก็อาจลุกลามไปทั่วกระเพาะอาหาร มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ชื่อ เฮลิโคแบกเตอร์ไพโลไร หรือ "เอชไพโลไร" (Helicobacter pylori/H.pylori) เชื้อนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากเชื้อชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเพ็ปติก) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

3. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดจำเพาะ พบร่วมกับโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อราหรือเชื้อไวรัสในผู้ป่วยเอดส์ การติดเชื้อวัณโรค ซิฟิลิส พยาธิ การถูกสารเคมี เป็นต้น

อาการ

มีอาการปวดแสบตรงใต้ลิ้นปี่ หลังกินอาหารอาจทุเลาหรือเป็นมากขึ้นก็ได้ หรือมีอาการจุกแน่นตรงใต้ลิ้นปี่หลังกินข้าว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือท้องเดินร่วมด้วย

ในรายที่เป็นชนิดเยื่อบุกร่อน อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ โดยจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ มักมีประวัติการกินยา ดื่มสุราจัด หรือมีภาวะเครียดก่อนมีเลือดออก

บางรายอาจไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก โลหิตจาง


ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจกลายเป็นแผลกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ เมื่องดยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเลือดมักหยุดออกได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีเลือดออกมากจนต้องให้เลือด)

ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ ส่วนการตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติ

แพทย์จะวินิจฉัยได้แน่ชัดโดยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร (gastroscopy) และตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรในกระเพาะอาหาร


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้ามีอาการแสบท้องหรือปวดท้องตอนดึก หรือจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหารหรือมีประวัติกินยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มโปรตอนปั๊มป์ (เช่น โอเมพราโซล, แพนโทพราโซล, แลนโซพราโซล, ราบีพราโซล เป็นต้น) นาน 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องงดดื่มแอลกอฮอล์ และยาที่อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ

2. ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ แพทย์จะรับตัวรับไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องให้เลือด และตรวจหาสาเหตุโดยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (endoscopy) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

3. ในรายที่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรัง หรือน้ำหนักลด จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ ตรวจชิ้นเนื้อกระเพาะอาหาร แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ในกรณีที่เป็นกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) จะให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดร่วมกันนาน 7-14 วันเพื่อกำจัดเชื้อ


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดจุกแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ กินยาลดกรด 2-3 ครั้งแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระเพาะอาหารอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

2. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

3. ปฏิบัติตัว ดังนี้

    กินอาหารทีละน้อย แต่บ่อยมื้อขึ้น
    หลีกเลี่ยงอาหารมัน ของทอด อาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัด
    งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มกาเฟอีน และน้ำอัดลม
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ใช้แก้ปวด แก้ปวดข้อ)

4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดท้องมาก อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ซีด ตาเหลือง คลำได้ก้อนในท้อง กินยารักษา 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดสังเกตที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินหรือท้องผูก เป็นต้น)

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุได้ ซึ่งบางชนิดป้องกันได้ บางชนิดป้องกันไม่ได้

สำหรับคนทั่วไป อาจป้องกันการเกิดกระเพาะอักเสบกลุ่มที่พบได้บ่อย ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการดื่มสุรามาก ถ้าจะดื่ม ควรดื่มในปริมาณเล็กน้อยเป็นครั้งคราว
    หลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ใช้แก้ปวด แก้ปวดข้อ) ด้วยตัวเองอย่างพร่ำเพรื่อ ในกรณีที่จำเป็น ควรให้แพทย์ตัดสินใจและแนะนำการใช้ที่ปลอดภัย
    ป้องกันการติดเชื้อเอชไพโลไร ด้วยการกินอาหารที่ปรุงสุก และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระ

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่กินยาแอสไพริน หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ทุกราย ให้สังเกตสีของอุจจาระเป็นประจำ ถ้าเป็นสีดำต้องรีบกลับไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลโดยเร็ว ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าอาการถ่ายดำเป็นอาการเลือดออกในกระเพาะลำไส้ มักปล่อยให้เลือดออกมากจนมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เป็นลม จึงค่อยไปโรงพยาบาล ซึ่งมักจะต้องให้เลือด และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

2. มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีมากกว่าวัยที่ต่ำกว่า 40 ปี) อาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia หรือ "โรคกระเพาะ") หรือกระเพาะอาหารอักเสบ และอาการสามารถทุเลาด้วยยาต้านกรดและยาลดการสร้างกรด แต่ต่อมาเมื่อแผลมะเร็งลุกลามมากขึ้น การใช้ยาจะไม่ได้ผล และจะมีอาการน้ำหนักลด อาเจียน หรือถ่ายดำตามมาได้ ดังนั้น หากรักษา "โรคกระเพาะ" โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น  มีอาการกำเริบบ่อย หรือพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ให้ทำการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้องหรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้) เพื่อแยกแยะสาเหตุให้แน่ชัด หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งได้ผลดีกว่าพบในระยะลุกลามแล้ว