ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal duct obstruction) - ถุงน้ำตาอักเสบ  (อ่าน 4 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 121
  • เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal duct obstruction) - ถุงน้ำตาอักเสบ
« เมื่อ: วันที่ 11 พฤศจิกายน 2024, 14:18:19 น. »
Doctor At Home: ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal duct obstruction) - ถุงน้ำตาอักเสบ (Dacryocystitis)

ท่อน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของระบบน้ำตา* บางครั้งอาจมีเหตุทำให้ท่อน้ำตาอุดตัน มีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าตา

ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเรา พบมากในทารก และผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

มักเป็นที่ตาเพียงข้างเดียว แต่ก็อาจเป็นทั้ง 2 ข้างก็ได้

เมื่อท่อน้ำตาอุดตันนาน ๆ ก็จะมีเชื้อโรคเข้าไป เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำตา กลายเป็น ถุงน้ำตาอักเสบ

*ระบบน้ำตา (lacrimal system) ประกอบด้วยต่อมน้ำตา (lacrimal gland) ที่อยู่ใต้เปลือกตาบน ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาหล่อลื่นและทำความสะอาดผิวหน้าของตา (ได้แก่ เยื่อบุตาและกระจกตา) น้ำตาที่ออกมาที่ตามีการไหลเวียน เปิดโอกาสให้มีน้ำตาใหม่เข้ามาแทนที่น้ำตาเก่า  โดยน้ำตาเก่าจะไหลลงรูเปิดของทางเดินน้ำตา (lacrimal punctum ซึ่งเป็นรูเล็ก ๆ เปิดอยู่ที่ขอบเปลือกตาบนและล่างตรงมุมหัวตา) ผ่านคลองน้ำตา (lacrimal canal) ลงมาที่ถุงน้ำตา (lacrimal sac ซึ่งอยู่ตรงหัวตาข้างสันจมูก) และท่อน้ำตา (nasolacrimal duct ซึ่งทอดลงมาตามผนังด้านข้างของจมูก) ในที่สุดน้ำตาก็จะระบายลงโพรงจมูกด้านล่าง (Inferior nasal meatus)


สาเหตุ

ท่อน้ำตาอุดตัน ในทารกอาจเกิดจากท่อน้ำตายังเปิดไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือเกิดจากมีเยื่อเมือกและเซลล์ที่อยู่ในน้ำคร่ำขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาเข้าไปอุดตันอยู่ภายในท่อน้ำตา หรือเกิดจากเยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียขณะคลอด ทำให้มีขี้ตาลงไปอุด

ในผู้ใหญ่ การอุดกั้นของท่อน้ำตาอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น รูเปิดของท่อน้ำตาตีบแคบลงจากความเสื่อมตามอายุขัยที่มากขึ้น, การได้รับบาดเจ็บตรงกระดูกข้างจมูก, เยื่อตาขาวอักเสบเรื้อรัง, ไซนัสอักเสบเรื้อรัง, ติ่งเนื้อเมือกจมูก (nasal polyps), สิ่งแปลกปลอมในท่อน้ำตา, เนื้องอกหรือมะเร็งในบริเวณจมูก, การผ่าตัดตา จมูกหรือไซนัส,  การใช้ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน, การได้รับรังสีบำบัดบริเวณศีรษะหรือใบหน้าเป็นต้น บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ถุงน้ำตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น สแตฟีโลค็อกคัส, สเตรปโตค็อกคัส, ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากท่อน้ำตาอุดตันนาน ๆ


อาการ

ท่อน้ำตาอุดตัน มีอาการน้ำตาไหลมาก จนเอ่อคลอเบ้าตาข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา โดยไม่เกี่ยวกับการร้องไห้ หรือมีเรื่องเศร้าโศกเสียใจ ต้องคอยเช็ดน้ำตาบ่อย ๆ

ในทารกจะสังเกตว่ามีน้ำตาไหลมากข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เกิด และบางครั้งมีขี้ตาออกมาเป็นครั้งคราว

ถุงน้ำตาอักเสบ ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน จะมีไข้ มีตุ่มนูนตรงหัวตา เมื่อใช้นิ้วกดตรงหัวตาจะมีหนองไหลออกมาในตา แล้วตุ่มนูนก็ยุบลง แต่ต่อมาก็กลับนูนขึ้นเช่นเดิมอีก ถ้าเป็นรุนแรงตุ่มนูนนั้นจะมีอาการปวดแดงร้อนคล้ายฝี ซึ่งอาจแตก มีน้ำตาและหนองไหลออกมา


ภาวะแทรกซ้อน

ท่อน้ำตาอุดตัน ทำให้มีน้ำตาค้างและหมักหมมอยู่ที่ระบบน้ำตา กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค อาจทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบ และถุงน้ำตาอักเสบ

ถุงน้ำตาอักเสบ หากได้รับการรักษา มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก อาจกลายเป็นถุงน้ำตาอักเสบเรื้อรัง (จะมีอาการน้ำตาและหนองไหลออกมาเรื้อรัง โดยไม่มีไข้ และไม่พบตุ่มนูนชัดเจน)

ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายู) และในทารกที่เป็นถุงน้ำตาอักเสบเฉียบพลัน (congenital acute dacryocystitis) อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อโรคลุกลามเข้าไปที่ตา ทำให้เยื่อตาขาวอักเสบ แผลกระจกตา เบ้าตาอักเสบ (orbital cellulitis ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้) นอกจากนี้ เชื้ออาจเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดฝีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โลหิตเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรง

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

สำหรับท่อน้ำตาอุดตัน การใช้นิ้วกดตรงหัวตาข้างสันจมูก จะพบว่ามีน้ำตาที่เป็นเมือกทะลักออกมาทางรูเปิดของท่อน้ำตา

  บางรายแพทย์จะใช้วิธีการหยอดน้ำสีเหลืองส้ม (ซึ่งเป็นสีเรืองแสง - fluorescein dye ที่ใช้ในการตรวจตา ไม่มีอันตราย) หยอดลงไปในตา ถ้าสีเหลืองระบายหายไปใน 2-3 นาที แสดงว่าท่อน้ำตาไม่มีการอุดตัน แต่ถ้าสีเหลืองยังคงค้างอยู่ที่ตา ก็บ่งชี้ว่าท่อน้ำตาข้างนั้นน่าจะมีการอุดตัน (วิธีนี้เรียกว่า "Dye disappearance test")

ในผู้ใหญ่บางราย แพทย์อาจทดสอบโดยการใช้เข็มเล็ก (ปลายตัดไม่คม) แยงลงไปทางรูเปิดของท่อน้ำตา แล้วใช้น้ำเกลือฉีดลงไป ถ้าผู้ป่วยรู้สึกถึงน้ำเกลือเค็ม ๆ ไหลลงคอ แสดงว่าท่อน้ำตาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยมีท่อน้ำตาอุดตัน น้ำตาจะไหลเอ่อล้นกลับออกมาทางรูเปิดของท่อน้ำตา

ในกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจทำการถ่ายภาพระบบทางเดินน้ำตาด้วยเอกซเรย์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยการฉีดสารทึบแสง เพื่อตรวจดูตำแหน่งที่อุดตัน

สำหรับถุงน้ำตาอักเสบเฉียบพลัน จะตรวจพบตุ่มนูน ปวด แดง ร้อนที่หัวตา และอาจตรวจพบว่ามีไข้ร่วมด้วย เมื่อใช้นิ้วกดตรงหัวตาจะมีหนองไหลออกมาในตา บางรายแพทย์อาจนำหนองไปตรวจหาเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

สำหรับเด็กเล็กที่เป็นโรคท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์มักจะแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการ (ซึ่งในทารกมักจะหายได้เองเมื่อท่อน้ำตาเจริญเต็มที่เมื่ออายุได้ 2-3 เดือน) หรือแนะนำให้พ่อแม่ทำการนวดบริเวณหัวตา (ตรงตำแหน่งของท่อน้ำตาที่อุดตัน) ซึ่งจะช่วยดันให้แผ่นพังผืดบาง ๆ ที่ขวางลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาเปิดออก ประมาณร้อยละ 70-90 จะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง

  ถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ โดยตรวจพบมีขี้ตาเหลือง ๆ เขียว ๆ แพทย์จะให้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาที่มีตัวยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการถ่างท่อน้ำตาด้วยการใช้อุปกรณ์แยงท่อน้ำตา หรือใส่ท่อที่มีบัลลูนตอนปลายแยงเข้าท่อน้ำตาแล้วเป่าบัลลูนให้ท่อน้ำตาขยาย หรือการใส่ท่อเล็ก ๆ (ที่ทำด้วยซิลิโคนหรือโพลิยูลีเทน) คาไว้ในท่อน้ำตานาน 3 เดือน เพื่อถ่างให้ท่อน้ำตาขยาย

หากไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องผ่าตัดทำท่อระบายน้ำตาขึ้นใหม่ (dacryocystorhinostomy)

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์จะรักษาด้วยการล้างท่อน้ำตา หากไม่ได้ผลก็จะทำการถ่างท่อน้ำตาด้วยเทคนิคต่าง ๆ หากไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องผ่าตัดทำท่อระบายน้ำตาขึ้นใหม่

และถ้าพบว่ามีสาเหตุชัดเจน ก็ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น รักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไป

สำหรับถุงน้ำตาอักเสบ (ตุ่มฝีขึ้นที่หัวตา) ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ ให้ยาแก้ปวดและยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ ถ้าอักเสบรุนแรงให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน) สัก 5-7 วัน ถ้าไม่ยุบหรือกลับเป็นซ้ำอีก แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ และทำการแก้ไขภาวะท่อน้ำตาอุดตัน

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีน้ำตาไหลมากข้างหนึ่ง มีอาการน้ำเอ่อคลอเบ้าตา มีตุ่มนูนตรงหัวตาซึ่งเมื่อใช้นิ้วกดตรงหัวตาจะมีหนองไหลออกมาในตา ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นท่อน้ำตาอุดตัน หรือถุงน้ำตาอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีน้ำตาไหลมากขึ้น มีไข้สูง ถุงน้ำตาอักเสบบวมแดงมากขึ้น หรือเยื่อตาขาวอักเสบ (ตาแดง ตาแฉะ)
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

สำหรับท่อน้ำตาอุดตัน ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก

ส่วนในผู้ใหญ่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดท่อน้ำตาอุดตันลงได้ ด้วยการป้องกันโรคเยื่อตาขาวอักเสบ (หมั่นล้างมือให้สะอาด อย่าเผลอขยี้ตา เป็นต้น) และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ ไซนัสอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก เป็นต้น)

สำหรับถุงน้ำตาอักเสบ สามารถป้องกันด้วยการรักษาท่อน้ำตาอุดตันให้หายขาด


ข้อแนะนำ

ผู้ที่มีน้ำตาไหลผิดปกติ นอกจากท่อน้ำตาอุดตันแล้วยังอาจเกิดจากขนตาเก* ควรซักถามอาการ และตรวจดูให้แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากอะไร ก็ควรแนะนำผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์ทุกราย
 

*ขนตาเก (trichiasis) ซึ่งหมายถึงอาการขนตาแยงเข้าด้านในนั้น ยังอาจเกิดจากการติดเชื้องูสวัด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน การถูกสารเคมีหรือความร้อนที่เปลือกตา การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดเปลือกตา ควรแก้ไขด้วยการถอนขนตา หรือใช้ไฟฟ้าหรือความเย็นจี้ หรือฉายรังสี