ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)  (อ่าน 22 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 105
  • เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
« เมื่อ: วันที่ 19 กันยายน 2024, 12:07:41 น. »
หมอออนไลน์: ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน พบประมาณร้อยละ 70 ของผู้หญิงวัยที่มีประจำเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ มีส่วนน้อยที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงาน

อาการปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ชนิดปฐมภูมิ (หรือไม่ทราบสาเหตุ) ซึ่งพบเป็นส่วนมาก กับชนิดทุติยภูมิ (หรือมีสาเหตุ) ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย

ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะเริ่มมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3 ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อย ๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว จะมีส่วนน้อยที่ยังอาจมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) จะมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย


สาเหตุ

ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ จะไม่มีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันนี้เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากผิดปกติ ทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัว เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ มักมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ เนื้องอกมดลูก มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง ปากมดลูกตีบ (cervical stenosis) เป็นต้น

เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง 2 ชนิด เช่น พบว่าผู้ที่อารมณ์อ่อนไหวง่ายหรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี

ผู้ที่มีประวัติว่ามีญาติสายตรงมีอาการปวดประจำเดือน หรือผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดประจำเดือนได้มากกว่าปกติ


อาการ

จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย

ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาการปวดท้องอาจทำให้ต้องพักงาน พักการเรียน

ส่วนในรายที่เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ทำให้เป็นหมัน, เนื้องอกมดลูกทำให้ตกเลือด เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าปวดไม่มาก ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล

2. ถ้าปวดมาก ให้นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้อง และให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ไอบูโพรเฟน ควรกินก่อนมีประจำเดือน 48 ชั่วโมง และกินทุกวันจนเลือดประจำเดือนหยุดออก หรือให้ยาแอนติสปาสโมดิก เช่น ไฮออสซีน บรรเทาปวด

3. ในรายที่เป็นอยู่ประจำ อาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด คือวันละ 1 เม็ด ทุกวัน) เพื่อมิให้มีการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ชั่วระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าเมื่อหยุดยาแล้วอาการปวดประจำเดือนทุเลาไป

4. ถ้าพบว่าอาการปวดประจำเดือนเริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้หญิงอายุมากกว่า 25 ขึ้นไป มีอาการปวดรุนแรง หลังแต่งงานยังมีอาการปวดมาก มีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือสงสัยเป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ แพทย์จะทำการตรวจภายใน และทำการตรวจพิเศษ เช่น อัลตราซาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (Iaparoscope) เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่นอน และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ


การดูแลตนเอง

หากมีอาการปวดท้องเวลามีประจำเดือนที่ไม่รุนแรง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้อง
    ถ้าปวดมากกินยาพาราเซตามอล*


ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดรุนแรง
    มีไข้สูง หนาวสั่น
    กดเจ็บมากตรงบริเวณท้องน้อย
    มีอาการขัดเบา และปวดแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ
    มีอาการปวดประจำเดือนเป็นครั้งแรก
    ปวดรุนแรงกว่าที่เคยปวดมาก่อน หรือหลังแต่งงานยังมีอาการปวดประจำเดือนมาก
    มีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติ
    ดูแลรักษาตนเองแล้วอาการไม่ทุเลา
    มีประวัติการแพ้ยา เป็นสตรีที่กำลังให้นมบุตร หรือมีโรคตับ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยาหรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะสตรีที่ให้นมบุตร และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ


การป้องกัน

สำหรับอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ อาจป้องกันหรือลดอาการปวดด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

    ออกกำลังกายเป็นประจำ
    งดสูบบุหรี่
    กินยาเม็ดคุมกำเนิดตามคำแนะนำของแพทย์


ข้อแนะนำ

1. ควรให้ความมั่นใจแก่เด็กสาวที่เริ่มมีอาการปวดประจำเดือนว่า โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นอาจทุเลาหรือหายได้เอง ตลอดจนให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประจำเดือน

2. ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ มักมีสาเหตุจากเยื่อบุมดลูกต่างที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีบุตรยาก

3. ผู้หญิงที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ ถ้าหากมีอาการปวดท้องรุนแรงผิดไปจากที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาก็ควรจะรีบไปโรงพยาบาล อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือสาเหตุที่ร้ายแรงอื่น ๆ ได้