ผู้เขียน หัวข้อ: ปลาแซลมอน อาหารสุขภาพจานโปรดกับประโยชน์ต่อสุขภาพ  (อ่าน 2 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 129
  • เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
ปลาแซลมอน อาหารสุขภาพจานโปรดกับประโยชน์ต่อสุขภาพ
« เมื่อ: วันที่ 26 พฤศจิกายน 2024, 12:21:25 น. »
ปลาแซลมอน อาหารสุขภาพจานโปรดกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

ปลาแซลมอนเป็นปลาทะเลที่คนทั่วโลกนิยมรับประทาน ด้วยรสชาติอร่อยและอุดมไปด้วยไขมันชนิดดี และยังขึ้นชื่อว่าเป็นปลาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย บำรุงสุขภาพ ดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ และอาจรักษาป้องกันโรคร้ายบางชนิดได้

ปลาแซลมอนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 โปรตีน วิตามินบี วิตามินดี โพแทสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารประเภทแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ปลาแซลมอนจึงอาจเป็นมากกว่าเมนูอาหาร แต่อาจมีคุณสมบัติต้านโรคได้ด้วย การบริโภคปลาแซลมอนมีประสิทธิผลทางการแพทย์จริงหรือไม่ ศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้

ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากคราบไขมันเกาะตัวภายในผนังหลอดเลือดหัวใจจนหลอดเลือดตีบและอุดตัน ทำให้ปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือดและเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา หากมีไขมันสะสมในเลือดสูงโดยเฉพาะไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ก็ทำให้ร่างกายเสี่ยงเผชิญโรคนี้ได้ โดยเนื้อปลาแซลมอนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและอาจช่วยชะลอการสะสมของคราบไขมันได้

มีงานวิจัยที่ให้ผู้ทดลองซึ่งมีไขมันในเลือดในระดับปกติถึงระดับมีไขมันเกินกว่าปกติเล็กน้อยบริโภคปลาแซลมอน วอลนัต และอาหารควบคุมที่ไม่มีแซลมอนหรือวอลนัตเป็นเวลาอย่างละ 4 สัปดาห์ ผลที่ได้ คือ เมื่อบริโภควอลนัต ผู้ทดลองมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวมและไขมันชนิดไม่ดีลดลงมากที่สุด ส่วนการบริโภคเนื้อปลาแซลมอนช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในขณะที่ช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) เมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคอาหารควบคุมที่ไม่มีอาหาร 2 ชนิดนี้

อีกงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 60 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกบริโภคน้ำมันปลาที่ทำจากปลาแซลมอนแอตแลนติก 100 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มถัดมาบริโภคน้ำมันเรปซี้ด (Rapeseed) 100 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มสุดท้ายบริโภคน้ำมันปลาและน้ำมันเรปซี้ดร่วมกันอย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์ หลังผ่านไป 6 สัปดาห์พบว่า กลุ่มที่บริโภคน้ำมันปลาแซลมอนมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงและมีสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบภายในหลอดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เหลือ

จากผลการทดลองต่าง ๆ แม้พบประสิทธิภาพของสารประกอบในปลาแซลมอนที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่งานค้นคว้าเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่เปรียบเทียบประสิทธิผลกับอาหารชนิดอื่น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ขึ้น และควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้ผลลัพธ์การทดลองชัดเจนมากยิ่งขึ้น


บำรุงครรภ์คนท้อง

ในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้ตนเองกับทารกในครรภ์มีสุขภาพดีและคลอดบุตรอย่างปลอดภัย คุณแม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพตนเองเป็นพิเศษ การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย เชื่อว่าการบริโภคปลาแซลมอนอาจบำรุงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ได้ด้วย โดยมีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20 จำนวน 62 คน บริโภคเนื้อปลาแซลมอน 150 กรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์อีก 61 คน บริโภคอาหารตามปกติไปจนคลอดบุตร ผลการทดลองพบว่า การบริโภคปลาแซลมอนช่วยเพิ่มกรดอะมิโนบางชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตและการบำรุงระบบการทำงานส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ให้สารอาหารจำเป็นสำหรับการบำรุงครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรบริโภคปลาหรืออาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนการบริโภคเสมอโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่


ช่วยให้นอนหลับสบาย

นอกจากการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังงาน ยังกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ปรับสภาพอารมณ์ และบรรเทาความเครียดได้ การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์อย่างปลาแซลมอนก็อาจช่วยให้นอนหลับได้ง่ายและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเช่นกัน โดยมีงานทดลองให้ชายชาวอเมริกา 95 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานปลาแซลมอน 3 ครั้ง/สัปดาห์ ในขณะที่อีกกลุ่มรับประทานอาหารจำพวกเนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัว เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการบริโภคปลาแซลมอนอาจช่วยเพิ่มระดับวิตามินดีที่อาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับและสมรรถภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานปลาแซลมอน

อย่างไรก็ตาม งานทดลองดังกล่าวเป็นการทดลองเฉพาะกลุ่ม และผู้ทดลองอาจรับประทานอาหารประเภทอื่น ๆ ที่ส่งผลดีต่อการนอนหลับไปพร้อมกับการบริโภคปลาแซลมอนด้วย ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองที่หลากหลายและควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ดี เพื่อยืนยันประสิทธิผลในด้านนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง

ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง คือ การอักเสบที่เยื่อบุผิวบริเวณลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ส่งผลให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร มีเลือดออกที่ผนังลำไส้ หรือลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น จนเกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีเลือดและมูกปนออกมา มีสมมติฐานที่ว่าสารอาหารและกรดไขมันไม่อิ่มตัวในเนื้อปลาแซลมอนอาจช่วยต้านการอักเสบและรักษาลำไส้อักเสบได้ โดยมีงานทดลองที่ให้ผู้ป่วยโรคนี้ 12 ราย บริโภคปลาแซลมอนแอตแลนติก 600 กรัม/สัปดาห์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยมีสารต้านการอักเสบในร่างกายเพิ่มมากขึ้นในขณะที่มีอาการของโรคลดลง

แม้ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาควบคุมอาการผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบชนิดนี้ แต่งานวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก จึงควรค้นคว้าเพิ่มเติมถึงประสิทธิผลที่แน่ชัดของปลาแซลมอนก่อนนำมาประยุกต์ใช้รักษาบรรเทาอาการในผู้ป่วยจริงต่อไป


ความปลอดภัยในการบริโภคปลาแซลมอน

โดยทั่วไป ควรบริโภคเนื้อปลาที่มีโอเมก้า 3 โดยเฉพาะปลาที่มีไขมันอย่างปลาแซลมอนอย่างน้อยประมาณสัปดาห์ละ ประมาณ 200 กรัม เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย แต่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าเนื้อปลาและสัตว์ทะเลมีเปลือก เช่น ปลาแซลมอน กุ้ง และปลาทูน่ากระป๋อง อาจมีสารปรอทซึ่งเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อร่างกายตกค้างอยู่แม้จะพบในปริมาณน้อยก็ตาม ผู้บริโภคจึงควรบริโภคเนื้อปลาอย่างหลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงผลข้างเคียงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการวางแผนรับประทานอาหาร และปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคอาหารแต่ละชนิดรวมถึงปลาแซลมอนด้วย โดยเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร สามารถบริโภคปลาแซลมอนและปลาชนิดอื่น ๆ ได้ตามปริมาณที่แนะนำเช่นกัน แต่ไม่ควรบริโภคเนื้อปลาเกินสัปดาห์ละ 340 กรัม เพื่อป้องกันการรับสารเคมีตกค้างอย่างปรอทเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอันตราย

แม้ปลาแซลมอนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโอเมก้า 3 ซึ่งพบได้มากโดยเฉพาะในปลาแซลมอนที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม แต่นอกจากเนื้อปลาแซลมอน ผู้บริโภคสามารถได้รับโอเมก้า 3 จากแหล่งอาหารอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาจาระเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพง ปลาช่อน กุ้ง ถั่วเหลือง วอลนัต เมล็ดแฟลกซ์ เป็นต้น